5 ธันวา

 

พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ของในหลวง รัชกาลที่ 9

 
 
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ทรงมีพระปรีชาสามารถในหลากหลายด้าน ทรงเป็นแบบอย่างของกษัตริย์ผู้ปกครองประชาชนด้วยทศพิธราชธรรม และมักจะทรงเป็นห่วงเป็นใยปวงชนของพระองค์เสมอมา หลายครั้งทรงมีพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทให้กับเหล่าข้าราชบริพารและประชาชนที่มาเข้าเฝ้าฯ พระองค์ เป็นเหมือนกับข้อคิด คำสอน ที่พ่อได้ให้กับลูก ทรงแนะนำแนวทางอันเป็นประโยชน์กับอาณาประชาราษฎร์เหนือที่จะกล่าวถึงได้หมด
 
          ในโอกาสนี้ กระปุกดอทคอม ขอน้อมนำพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท รวมทั้งพระราชปรารภที่ทรงให้ไว้ในโอกาสต่าง ๆ มาให้ผู้อ่านได้ซึมซาบในน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านกันทุกคน
 
 
 
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
 
- พระปฐมบรมราชโองการ -
เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓
 
พระราชดำรัส ในหลวง รัชกาลที่ 9
ถ้าประชาชนไม่ "ทิ้ง" ข้าพเจ้าแล้ว
ข้าพเจ้าจะ "ละทิ้ง" อย่างไรได้
 
ตอนหนึ่งจากพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เรื่อง เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์
บันทึกเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๘๙
 

 
“สามัคคี” 
หรือการปรองดองกัน ไม่ได้หมายความว่า
คนหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง...คนอื่นต้องพูดเหมือนกันหมด 
ลงท้ายชีวิตก็ไม่มีความหมาย
ต้องมีความแตกต่างกัน แต่ต้องทำงานให้สอดคล้องกัน
แม้จะขัดกันบ้าง...ก็ต้องสอดคล้องกัน
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖
 

 
ความคิดนั้นเป็นแม่บทใหญ่ของการพูดและการกระทำ 
เพราะกิจที่จะทำ คำที่จะพูด ทุกอย่างล้วนสำเร็จมาจากความคิด
การคิดก่อนพูดและก่อนทำจึงช่วยให้
บุคคลสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร 
หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
 
พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐ 
 
 
ฉันถือว่า ฉันเป็นพลเมืองคนหนึ่งซึ่งมีตำแหน่ง
...ตราบใดที่ยังอยู่ในตำแหน่งนี้...
ตราบนั้นฉันต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สมบูรณ์
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
 
พระราชดำรัส ในหลวง รัชกาลที่ 9

 

 
ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้คือ
การที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า
นั่นคือ...คนไทยทั้งปวง
 
ข้อความจากพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
 
 
"อันที่จริงเธอก็ชื่อภูมิพล ที่แปลว่า 
กำลังของแผ่นดิน แม่อยากให้เธออยู่กับดิน" 
...
เมื่อฟังคำพูดนี้แล้วก็กลับมาคิด 
ซึ่งแม่ก็คงจะสอนเรา และมีจุดมุ่งหมายว่า 
อยากให้เราติดดินและอยากให้
ทำงานให้แก่ประชาชน
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
 
 
การทำความดีนั้น...
โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ 
จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า...แต่ก็จำเป็นต้องทำ
เพราะหาไม่...ความชั่วซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่
แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว
 
พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรี
โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๙
 
พระราชดำรัส ในหลวง รัชกาลที่ 9
ความเมตตาปรารถนาดีต่อกันนี้
เป็นปัจจัยอย่างสำคัญ ที่จะยังความพร้อมเพรียงให้เกิดมีขึ้น
ทั้งในหมู่คณะและในชาติบ้านเมือง
และถ้าคนไทยเรายังมีคุณธรรมข้อนี้ประจำอยู่ในจิตใจ ก็มีความหวังได้ว่า
บ้านเมืองไทยไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ๆ ก็จะอยู่รอดปลอดภัย
และดำรงมั่นคงต่อไปได้ตลอดรอดฝั่งอย่างแน่นอน
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 
ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม 
วันพุธ ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๕
 
พระราชดำรัส ในหลวง รัชกาลที่ 9
...ความสุขความเจริญนี้ แม้เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา
อย่างยิ่ง แต่ในวิถีชีวิตของคนเรานั้น ย่อมต้องมีทั้งสุข
และทุกข์ ทั้งความสมหวังและผิดหวัง เป็นปรกติธรรมดา
ทุกคนจึงต้องเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมการให้พร้อม
อย่าประมาท...
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 
พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๕๙ 
วันพฤหัสบดีที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘
 

 
ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี
ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด
การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย
จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี
หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี
ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง
และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ
ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้
 
พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๒
 

 
...ที่เราต้องเดินเร็ว ต้องไปเร็ว เพราะว่า
ความทุกข์ยากของประชาชน
...ไม่เคยรอใคร...
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
 
 
การปิดทองหลังพระนั้น... เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด 
ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก 
เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า
ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย
...พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้...
 
พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๖
 

 
ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์ 
แต่หน้าที่ของข้าพเจ้า
ไม่ใช่หน้าที่ของกษัตริย์ เป็นสิ่งยากที่จะระบุ
...
ข้าพเจ้าเพียงแค่ทำสิ่งต่าง ๆ
ที่ข้าพเจ้าคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานสัมภาษณ์แก่ BBC
 
พระราชดำรัส ในหลวง รัชกาลที่ 9
ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ
แม้จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์
ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่า...
ผู้มีความรู้มาก แต่ไม่มีความสุจริต 
ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในโอกาสที่คณะผู้อำนวยการและอาจารย์ใหญ่จากโรงเรียนต่าง ๆ
ในเขตอำเภอดุสิต “กลุ่มจิตรลดา” เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล
ตามพระราชอัธยาศัย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันอังคาร ที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๓
 
 
ความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 
กับความรักใคร่เผื่อแผ่ช่วยเหลือกันฉันญาติพี่น้อง 
สองประการนี้ คือคุณลักษณะสำคัญของไทย 
ที่ช่วยให้ชาติบ้านเมืองอยู่รอดเป็นอิสระ 
และเจริญมั่นคง มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๓๒
 
 
“พอเพียงนี้ ” 
อาจจะมีมาก...อาจจะมีของหรูหราก็ได้
แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น
...ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ
พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑
 

 
คนเราถ้าพอใจในความต้องการ
...ก็มีความโลภน้อย...
เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย
ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง
หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก
...คนเราก็อยู่เป็นสุข...
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑
 
 
การที่คนสมัยใหม่บอกว่าคนสมัยเก่ามีความรู้น้อยก็อาจเป็นจริง
แล้วคนสมัยใหม่ดูถูกหรือเหยียดหยามคนสมัยเก่าก็มีสิทธิ์
...แต่ถ้าพูดตามความจริงแล้ว...
สิทธิ์ที่จะเหยียดหยามคนรุ่นเก่าไม่ควรจะมี
ด้วยเหตุว่า...คนรุ่นเก่านี้เองทำให้คนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาได้
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
๔ ธันวาคม ๒๕๓๑
 
 
พระราชดำรัส ในหลวง รัชกาลที่ 9
ความเข้มแข็งในจิตใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ
ที่จะต้องฝึกฝนแต่เล็ก เพราะว่าต่อไป ถ้ามีชีวิตที่ลำบาก ไปประสบอุปสรรคใด ๆ
ถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความรู้ ไม่มีทางที่จะผ่านอุปสรรคนั้นได้
เพราะว่าถ้าไปเจออุปสรรคอะไร ก็ไม่มีอะไรที่จะมาช่วยเราได้
แต่ถ้ามีความรู้ มีอัธยาศัยที่ดี และมีความเข้มแข็ง ในกาย ในใจ
ก็สามารถที่จะผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ นั้นได้
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 
พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนราชวินิต ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต 
วันศุกร์ที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๘
 
พระราชดำรัส ในหลวง รัชกาลที่ 9
คนเราอยู่คนเดียวไม่ได้ จะต้องอยู่เป็นหมู่คณะ และถ้าหมู่คณะนั้นมีความสามัคคี 
คือเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือในทุกเมื่อ 
ช่วยกันคิดว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่สมควร 
สิ่งใดที่จะทำให้นำมาสู่ความเจริญความมั่นคง ความสุขก็ทำ 
สิ่งใดที่นำมาซึ่งหายนะหรือเสียหายก็เว้น 
และช่วยกันปฏิบัติทั้งหน้าที่ทางกายทั้งหน้าที่ทางใจ
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน จังหวัดสระบุรี ๑๖ เมษายน ๒๕๑๙
 
 
...ความจริงมันน่าท้อถอยหรอก...
บางเรื่องมันน่าท้อถอย...แต่ว่าฉันท้อไม่ได้
เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน
เดิมพันของเรานั้นคือบ้านคือเมือง...คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
มีพระราชกระแสตอบ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หลังทรงถูกถามว่าเคยทรงเหนื่อยหรือทรงท้อบ้างหรือไม่
 
พระราชดำรัส ในหลวง รัชกาลที่ 9
การดำรงชีวิตที่ดี...จะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา 
การปรับปรุงตัว จะต้องมีความเพียร
และความอดทนเป็นที่ตั้ง
ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ...ไม่มีความอดทน 
ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว
...ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ...
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานแก่ครูและนักเรียน โรงเรียนจิตรลดา ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๓
 
 
พระพุทธศาสนาแสดงความจริงของชีวิต
แสดงทางปฏิบัติที่จะให้บรรลุความสุขสูงสุดของชีวิต
มีวิธีการสั่งสอนที่ยึดหลักเหตุและผล...ว่าทุกสิ่งเกิดจากเหตุ
ผู้ใดประกอบเหตุอย่างไรเพียงใด
...ก็ได้ผลนั้นเพียงนั้น...
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานในการเสด็จฯ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย
วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๓
 
 
…คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้
หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วย
เมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้...
 
ส่วนหนึ่งจากพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันที่ 20 เม.ย. 2521
 
 
...การประหยัดอดออม...
เป็นรากฐานในการสร้างตัว สร้างฐานะของบุคคล
ตลอดจนความเจริญมั่นคง
...ของสังคมและชาติบ้านเมือง...
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติโรงพยาบาลศิริราช วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๙
 
 
ต่างคนต่างมีหน้าที่
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทำเฉพาะหน้าที่นั้น...
เพราะว่า...ถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัว
โดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้
เพราะเหตุว่า...งานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน
ฉะนั้น...แต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้วช่วยกันทำ
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ 
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๓๓
 
 
เงิน 240,000 บาท ที่หมอขอไปนั้น ฉันเอามาให้แล้ว
เงินนี้ให้เธอนำไปทำการก่อสร้างเอง...โดยไม่ต้องผ่านทางราชการ 
...ฉันไว้ใจเธอ...
“สร้างเสร็จ ขอให้บอกไป ฉันจะมาเปิด”
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับ นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน
ให้นำเงินพระราชทานไปสร้างตึกผู้ป่วย เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๑๑
 
 
เคยมีผู้กล่าวไว้ว่า ราชอาณาจักรนั้นเปรียบเสมือนพีระมิด
มีพระมหากษัตริย์อยู่บนยอด และมีประชาชนอยู่ข้างล่าง
แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ดูเหมือนทุกอย่างจะตรงกันข้าม
นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องปวดคอและบริเวณไหล่อยู่เสมอ
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวนิตยสาร เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก เมื่อ พ.ศ. 2525
 
 
...คุณธรรมข้อหนึ่ง...
ที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทยก็คือ... “การให้”
การให้นี้...ไม่ว่าจะให้สิ่งใด
แก่ผู้ใด โดยสถานใดก็ตาม
เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง
เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญ
ระหว่างบุคคลกับบุคคลและให้สังคม
มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยสามัคคีธรรม
 
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๕