อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์

 

อุดมการณ์สหกรณ์ 
           คือ แนวความคิดที่เชื่อว่าวิธีการสหกรณ์จะช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของมวลสมาชิก ให้มีความอยู่ดีกินดีและมีสันติสุขโดยการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

หลักการสหกรณ์ 
          หลักการสหกรณ์ที่ถือใช้ในปัจจุบันเป็นผลสืบเนื่องมาจากระเบียบปฏิบัติของผู้นำแห่งเมืองรอชเดล ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ที่ก่อตั้งร้านสหกรณ์ขึ้นในปีพ.ศ. 2387 ซึ่งนับได้ว่าเป็นร้านสหกรณ์แห่งแรกของโลกที่ดำเนินงานประสบผลสำเร็จ ระเบียบปฏิบัติร้านสหกรณ์ของผู้นำแห่งเมืองรอชเดลในสมัยแรกได้มีการปรับปรุงแก้ไขและปรากฎหลักฐานใน พ.ศ. 2403 ดังต่อไปนี้ 
                1. เงินทุนควรมาจากผู้ถือหุ้นและจำกัดอัตราเงินปันผล 
                2. การจัดหาสินค้าคุณภาพให้แก่สมาชิก 
                3. ความเที่ยงตรงในการชั่ง ตวง วัด 
                4. ขายสินค้าเงินสดตามราคาตลาด 
                5. กำไรจัดสรรตามส่วนซื้อของสมาชิก 
                6. ความเสมอภาคในการเป็นสมาชิกและการออกเสียง 
                7. การจัดการโดยพนักงานและกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งตามระยะเวลา 
                8. กำไรจำนวนแน่นอนควรจัดสรรเพื่อการศึกษา 
                9. รายงานและงบดุลควรนำเสนอสมาชิกได้บ่อยครั้ง 
                ถึงแม้ว่าระเบียบปฏิบัติของสหกรณ์รอชเดล จัดตั้งขึ้นมาก่อนหนึ่งร้อยปีแล้ว และเป็นการตั้งขึ้น เพื่อใช้เฉพาะกับร้านสหกรณ์ก็ตาม แต่หลักการบางข้อสามารถนำมาใช้กับสหกรณ์ทั่ว ๆ ไปได้ ซึ่งเรื่องนี้ องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ (องค์การ ไอซีเอ) ได้มีการประชุมปรึกษากัน ณ กรุงเวียนนาประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2509 โดยนำเอาระเบียบปฏิบัติของรอชเดลมาแก้ไข ปรับปรุงใหม่ และได้ส่งมติกำหนดเป็นหลักการสหกรณ์ 6 ประการ คือ 
                1. การเป็นสมาชิกด้วยความสมัครใจและไม่กีดกันการเข้าเป็นสมาชิก 
                2. การควบคุมตามหลักประชาธิปไตยและการดำเนินการเป็นอิสระ 
                3. การจำกัดอัตราเงินปันผลตามหุ้น 
                4. การจัดสรรรายได้สุทธิ ( กำไร ) เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมและความเป็นธรรมในหมู่สมาชิก 
                5. การส่งเสริมการศึกษาอบรมทางสหกรณ์ 
                6. การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ทั้งปวง 
                และหลักการสหกรณ์ 6 ประการนี้มีการถือใช้มาตลอด จนเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2538 องค์การสัมพันธภาพระหว่างประเทศ ได้จัดการประชุม ณ นครแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ดำเนินการปรับปรุงเพิ่มเติมหลักการสหกรณ์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้หลักการสหกรณ์มีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันยิ่งขึ้นรวมทั้งการให้สมาชิกได้มีความเข้าใจและนำหลักการสหกรณ์ไปใช้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน ซึ่งมีหลักการสหกรณ์ 7 ประการ และได้มีการประกาศให้สหกรณ์ทุกประเทศถือใช้โดยทั่วกัน

                สหกรณ์ 
                คือ สมาคมที่เป็นอิสระของบุคคลที่มารวมตัวกันด้วยความสมัครใจดำเนินกิจการที่เป็นเจ้าของร่วมกันและมีการควบคุมตามแนวทางประชาธิปไตยเพื่อสนองความต้องการและความมุ่งมั่นรวมกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม คุณค่าของสหกรณ์ 
                สหกรณ์ยึดมั่นในคุณค่าของการพึ่งพาตนเอง ความรับผิดชอบตนเองการเป็นประชาธิปไตย การมีสิทธิทัดเทียมกัน ความเที่ยงธรรมและความสามัคคีโดยมีสมาชิกที่เชื่อมั่นในคุณค่าทางจริยธรรมของความซื่อตรง ความโปร่งใส ความรับผิดชอบต่อสังคมและความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น ตามแบบแผนที่สืบทอดต่อกันมาจากผู้ริเริ่มการสหกรณ์ หลักการสหกรณ์ 
                หลักการสหกรณ์เป็นแนวทางสำหรับสหกรณ์ต่าง ๆ ในการนำคุณค่าของสหกรณ์ไปสู่การปฏิบัติ 
                หลักการที่ 1 การเปิดรับสมาชิกโดยทั่วไปตามความสมัครใจ สหกรณ์เป็นองค์การแห่งความสมัครใจ เปิดรับบุคคลทั่วไปที่สามารถใช้บริการสหกรณ์ได้และเต็มใจจะรับผิดชอบในฐานะสมาชิก เข้าเป็นสมาชิกโดยปราศจากการกีดกันทางเพศ ฐานะทางสังคม เชื้อชาติ การเมือง หรือศาสนา 
                หลักการที่ 2 การควบคุมโดยสมาชิกตามแนวทางประชาธิปไตย สหกรณ์เป็นองค์การประชาธิปไตยที่มีการควบคุมโดยสมาชิก ซึ่งมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจ บุรุษและสตรีที่ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นผู้แทนสมาชิก ต้องรับผิดชอบต่อสมาชิก ในสหกรณ์ชั้นปฐม สมาชิกมีสิทธิในการออกเสียงเท่าเทียมกัน (สมาชิกหนึ่งคนหนึ่งเสียง) สำหรับสหกรณ์ในระดับอื่น ๆ ก็ดำเนินการตามแนวทางประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน 
                หลักการที่ 3 การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจโดยสมาชิก สมาชิกมีส่วนร่วมในการลงทุน (ซื้อหุ้น) ในสหกรณ์ของตนเองอย่างเสมอภาคกัน และมีส่วนในการควบคุมการใช้เงินทุนของสหกรณ์ตามแนวทางประชาธิปไตย ทุนของสหกรณ์อย่างน้อย ๆ ส่วนหนึ่งต้องเป็นทรัพย์สินส่วนรวมของสหกรณ์ โดยปกติสมาชิกจะได้รับผลตอบแทน (ถ้ามี) ในอัตราที่จำกัดตามเงินลงทุน (หุ้น) ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของการเข้าเป็นสมาชิก สมาชิกสามารถจัดสรรเงินส่วนเกินของสหกรณ์ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทุกอย่างดังนี้ คือ เพื่อการพัฒนาสหกรณ์ โดยอาจกันไว้เป็นเงินสำรองซึ่งอย่างน้อย ๆ จะต้องมีส่วนหนึ่งที่นำมาแบ่งปันกันไม่ได้ เพื่อตอบแทนแก่สมาชิกตามสัดส่วนของปริมาณธุรกิจที่สมาชิกได้ทำกับสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ที่มวลสมาชิกเห็นชอบ 
                หลักการที่ 4 มีการปกครองตนเองและมีอิสระ สหกรณ์เป็นองค์การที่พึ่งพาตนเองและปกครองตนเอง โดยมีการควบคุมจากมวลสมาชิก หาก สหกรณ์จะต้องมีข้อตกลงผูกพันธ์กับองค์การอื่นใด ซึ่งรวมถึงหน่วยงานของรัฐบาลด้วย หรือจะต้องเพิ่มเงินลงทุน โดยอาศัยแหล่งเงินทุนภายนอกสหกรณ์ สหกรณ์จะต้องกระทำการดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขที่มั่นใจได้ว่ามวลสมาชิกจะยังคงธำรงไว้ ซึ่งอำนาจในการควบคุมสหกรณ์ตามแนวทางประชาธิปไตยและสหกรณ์ยังคงดำรงความเป็นอิสระ 
                หลักการที่ 5 การให้การศึกษา การฝึกอบรม และข่าวสาร สหกรณ์พึงให้การศึกษาและการฝึกอบรมแก่สมาชิก ผู้แทนสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้ง ผู้จัดการและพนักงาน เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้สามารถมีส่วนช่วยพัฒนาสหกรณ์ของตนเอง ได้อย่างมีประสิทธิผล และพึงให้ข่าวสารแก่สาธารณชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนและบรรดาผู้นำทางความคิด ในเรื่องคุณลักษณะและประโยชน์ของสหกรณ์ 
                หลักการที่ 6 การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ สหกรณ์จะสามารถให้บริการแก่สมาชิกได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุดและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ขบวนการสหกรณ์ได้ โดยร่วมมือกันในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ 
                หลักการที่ 7 ความห่วงใยต่อชุมชน สหกรณ์พึงดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาชุมชนให้มีความเจริญยั่งยืนตามนโยบายที่มวลสมาชิกเห็นชอบ

วิธีการสหกรณ์ 
                คือ การนำหลักการสหกรณ์มาใช้ในทางปฏิบัติ ซึ่งสหกรณ์แต่ละประเภทจะมีวิธีปฏิบัติแตกต่างกันไป เช่น การจัดตั้ง การระดมทุน การบริหารงาน การดำเนินธุรกิจ และการส่งเสริมประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสมาชิกโดยกำหนดวิธีปฏิบัติไว้ในข้อบังคับสหกรณ์